วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

พันธุ์เก่ากับพันธุ์ใหม่

แวดวงการศึกษาไทยห้วงปีที่ผ่านมากล่าวขวัญ ถึงการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่สอง และพูดถึง "ครูพันธุ์ใหม่"มากกว่าเรื่องอื่น ซึ่งรวมหมายถึงระดับการศึกษาและคุณสมบัติ ตลอดจนค่าตอบแทน

ก่อนจะไปถึงครูพันธุ์ใหม่ วันนี้ลองมองย้อนกลับไปที่ "ครูพันธุ์เก่า"สักประเดี๋ยวเป็นไร

วันก่อนมีเรื่องครูตีนักเรียนเรื่องแต่งกายผิดระเบียบ ถึงขนาดฟกช้ำดำเขียวที่บริเวณแก้มก้น

หากว่ากันตามระเบียบกฎเกณฑ์ มีระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศใช้เมื่อปี 2548 ห้ามครูลงโทษนักเรียนด้วยการตีด้วยไม้หรือตีด้วยวัสดุอุปกรณ์อื่นใด

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ที่ศาลแขวงจังหวัดนครราชสีมา คณะผู้พิพากษาศาลแขวงพิพากษาจำคุกอดีตครูสอนศิลปศึกษา1 อดีตครูประจำวิชาภาษาไทย 1 และครูผู้ดูแลหอพัก 1 เป็นเวลา 1 ปี ปรับคนละ8,000 บาท ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยการร่วมกระทำผิดลงโทษเด็กนักเรียนชายกว่า40 คน โดยการใช้ไม้เรียวทำด้วยหวายพันสายไฟฟ้าเฆี่ยนตีจนเด็กนักเรียนได้รับบาด เจ็บ

ความคิดเห็นเรื่องครูตีนักเรียนมีออกมาหลายทาง ทั้งผู้ปกครอง ทั้งนักเรียน และทั้งครูผู้รับผิดชอบ บ้างเห็นด้วย บ้างไม่เห็นด้วยโดยเหตุผลว่า หากมีการลงโทษตีด้วยไม้เรียวกระทำบนฐานของความรักความเมตตานักเรียน การตีนั้นก็น่ามีความเป็นไปได้ขณะที่บางโรงเรียนมีระเบียบว่าจะให้ลงโทษด้วย วิธีใด หากลงโทษด้วยการตี จะให้ครูตีหรือผู้ปกครองตี หรือจะลงโทษด้วยการหักคะแนน

การเฆี่ยนตีนักเรียนน่าจะมีต่อเนื่องมาแต่ในอดีต พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักลงโทษลูกหลานในปกครองด้วยการเฆี่ยนตีแทบทั้งสิ้น กำลังของการเฆี่ยนตีแรงค่อยแล้วแต่ทั้งความผิดและอารมณ์ ณ ขณะนั้นส่วนการเฆี่ยนตีของครู อาจถือกันมานานแล้วว่าครูคือพ่อแม่คนที่สองของนักเรียน

"หลวงเมือง"เขียนไว้ใน"มติชน"คอลัมน์ "บทความธรรมดา" วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคมนี้ ตอนหนึ่งว่า

"คนไทยนับถือวันพฤหัสบดีเป็นวันครูเมื่อข้าพเจ้าเข้าโรงเรียนวัดนวลนรดิศ พ่อพาไปมอบตัวต่ออาจารย์ใหญ่ คือ ขุนปราศรัยจรรยา โดยให้ถือดอกไม้ธูปเทียนไปด้วยและไปวันพฤหัสบดี ท่านอาจารย์พูดกับพ่อของข้าพเจ้าว่า สมัยนี้เขาไม่นับถือกันแล้วมอบตัวกันเป็นพิธีก็พอ แต่พ่อของข้าพเจ้าเรียนท่านโดยนอบน้อมว่า ผมถือโบราณดอกไม้ธูปเทียนที่ลูกศิษย์ของท่านอาจารย์นำมาคารวะนี้บูชาพระก็ ได้ ท่านก็รับไว้ พ่อกล่าวมอบตัวเป็นครั้งที่ 2 ว่า ลูกผมคนนี้ยกให้เป็นศิษย์ของท่านขุน ดุว่าเฆี่ยนตีได้ตามความผิด อาจารย์ใหญ่หันมาถามข้าพเจ้าว่าเธอได้ยินแล้วใช่หรือไม่ ข้าพเจ้าตอบเสียงแห้งๆ ว่า ครับ เป็นอันเสร็จพิธีมอบตัว"

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเพื่อนศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าคารวะ อาจารย์เนื่องในโอกาสวันครู โดยนายอภิสิทธิ์นำพวงมาลัยคารวะคุณครูลินจงอินทรัมพรรย์ อดีตครูประจำชั้น ป.5 ป.6 ของนายกรัฐมนตรี

คุณครูลินจง ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ตอนหนึ่ง ความว่า

เนื่องในวันครูที่จะมาถึงในวันที่ 16 มกราคมนี้ อยากฝากถึงเพื่อนครูทั่วประเทศว่า ขอให้ภูมิใจในอาชีพของตนเอง เพราะครูเป็นอาชีพที่ได้ทำบุญจากการสั่งสอนให้ความรู้แก่ลูกศิษย์...ขอให้ ครูภูมิใจ ไม่ต้องน้อยใจว่าไม่รวย และต้องทำงานเหนื่อยยากแต่อาชีพที่ทำอยู่มีคุณค่ามหาศาลมาก และเป็นอาชีพที่คนอื่นไม่มีโอกาสทำ เมื่อมีโอกาสแล้วก็ต้องทำงานนี้ด้วยใจ

"ครูไม่ได้แค่ภูมิใจที่เป็นครูนายกฯ แต่ภูมิใจกับลูกศิษย์ทุกคนที่เป็นคนดี ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรที่สุจริตก็ภูมิใจ ทุกวันนี้มีลูกศิษย์ประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น นักแสดง ชาวนา บางคนก็บวชเป็นพระสงฆ์ดิฉันในฐานะเป็นครูก็จะติดตามลูกศิษย์แต่ละคนว่าเป็น อย่างไร"

"ราชภัฏข่าวสด" วันนี้เป็นแต่เพียงหยิบยกความเป็นพ่อแม่ ความเป็นครู เมื่อก่อนกับวันนี้มาให้อ่าน เผื่อว่าคุณครูและคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองทั้งหลายได้ทบทวนกันว่า จะลงโทษด้วยไม้เรียวต่อไปหรือไม่

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

อ่านหนังสืออย่างไรให้สอบบรรจุได้

อ่านหนังสืออย่างไรให้สอบบรรจุได้
เป็นเรื่องที่หลายคนยังหาแนวทางให้กับตัวเองไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีโอกาสสอบติดอยากสอบมีชื่อขึ้นบัญชีเหมือนเขาบ้าง ผมเองก็เคยเป็นคนนึงที่ต้องดิ้นรนหาหนทางที่จะทำให้ตัวเองสอบบรรจุครูได้เหมือนเขาบ้างเพราะเป็นอาชีพที่ตัวเองไฝ่ฝันมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนักเรียนจนกระทั่งเรียนจบก็ได้มีโอกาสทำงานด้านการสอนแต่เป็นสอนในโรงเรียนเอกชนซึ่งเราหวังที่จะสอบได้เป็นข้าราชการครูรัฐบาลกับเขาบ้าง พอทราบข่าวว่าจะมีการเิปิดสอบบรรจุที่ไหนก็เตรียมตัวอ่านหนังสือชนิดอ่านแทบไม่ได้นอนเลยก็ว่าได้อ่านมันทุกอย่างอ่านทุกเรื่องที่น่าจะเป็นข้อสอบ เมื่อถึงวันสอบก็พร้อมทุกอย่างแต่ผลสอบออกมากลับเป็นว่าเราสอบไม่ผ่านภาค ก. เลยกลับมานั่งทบทวนตัวเองว่าเพราะอะไรทำไม เราอ่่านหนังสือขนาดนี้แล้วทำไมยังสอบไม่ผ่าน
และแล้วผมก็ได้มีโอกาสได้พบกับบุคคลท่านนึง(ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ)ท่านได้ให้แนวทางสำหรับการอ่านหนังสือให้กับผมซึ่งเป็นแนวทางที่ดีมาก ๆ อ่านหนังสือตรงไหน อ่านอย่างไรให้จำได้เราไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมดทั้งเ่ล่มไม่จำเป็นต้องอ่านทุกตัวเรียกว่าเราสามารถอ่านเก็งเฉพาะจุดที่คิดว่าจะเป็นข้อสอบได้แน่นอน ผมเองก็ได้ทำตามปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นอ่านหนังสือตามที่ท่านบอก แล้วเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้สอบครูผู้ช่วยอีกครั้งผลสอบออกมาผมสอบผ่านภาค ก. จริง ๆ ดีใจมากเป็นความรู้สึกที่สุดจะบรรยายเป็นความภูมิใจของตัวเรา แต่ยังต้องไปสอบภาค ข. อีก ซึ่งตอนนั้นวิชาเอกที่ผมสอบมีคนสอบผ่านภาค ก. เพียง 33 คน ก็ไปสอบภาค ข. และผลสอบรวมทั้ง ภาค ก . และ ข. ออกมาปรากฏว่าผมสอบได้ลำดับที่ 4 เหมือนยกภูเขาออกจากอกทั้งโล่งทั้งดีใจ ภูมิใจที่ตัวเองทำได้ไม่ได้พึ่งเส้นสายที่ได้เพราะไม่มีเส้นสายอยู่แล้วผมเป็นลูกชาวนา ดีใจที่เราได้แล้วทำให้พ่อแม่ภูมิใจด้วย ตอนนี้ผมก็ได้บรรจุเป็นครูผู้ช่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จึงอยากเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของการสอบบรรจุครูผู้ช่วยให้ท่าน ๆ ทั้งหลายที่กำลังมองหาช่องทางสำหรับการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ผมสรุปหลักการอ่านหนังสือของผมสั้น ๆนะครับ
1. อ่านเรื่องที่จำเป็นที่คิดว่าจะเป็นข้อสอบ พรบ. กฏหมาย ต้องแม่น มาตราต่าง ๆ
2. ความรู้ทั่วไปต้องแม่น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเหตุการณ์ปัจจุบัน
3. วิชาชีพครู อันนี้ต้องแม่นไม่น่าจะพลาดเพราะเป็นเรื่องจำเป็นมาก ข้อสอบออกเยอะ
4. เรื่องของภาษาไทย บางคนอาจไม่ชอบข้อสอบส่วนนี้ ถ้ามีหลักการอ่านดี ๆ ไม่ยาก จำหลักการให้ได้
5. คณิตศาสตร์ บางคนตกม้าตายเพราะวิชานี้ ทำไม่ทันเวลา เสียคะแนนได้ง่าย ผมเคยทำไม่ทันเวลาครับ สำหรับวิชานี้แ้ล้วก็สอบไม่ผ่านจริง ๆ
6. วิชาเอกตัวเอง อันนี้ต้องมั่นใจว่าทำข้อสอบได้ 100% นะครับ ถ้าไม่มั่นใจวิชาเอกตัวเองก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว ถ้าไม่ได้ถึง 100% ก็ให้มั่นใจว่าทำได้ 80% ขึ้นสำหรับวิชาเอกตัวเอง

เอาละครับพอเป็นแนวทางให้กับท่านทั้งหลายแล้วผมจะนำตัวอย่างข้อสอบพร้อมเฉลยมาให้ท่านอ่านเรื่อย ๆครับ

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

คลอด2มาตรฐานหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่ ป.โทสอนรายวิชา-ประจำชั้น

นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ได้เห็นชอบแนวทางการออกแบบ มาตรฐานหลักสูตรครูยุคใหม่หลักสูตรปริญญาโท 2 ปี และหลักสูตรครูปริญญาตรีควบโท 6 ปี โดยหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี มีปรัชญาของหลักสูตร คือ การพัฒนาสร้างครูประจำวิชา เพื่อสอนระดับ ม.ปลายและอาชีวศึกษา ซึ่งผู้ที่จะเรียนหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรม.ปลาย หรือ GPAX และผลการเรียนวิชาเอกไม่ต่ำกว่า 3.00 มีความสามารถภาษาอังกฤษดี มีคะแนนสอบภาษาอังกฤษที่เทียบกับ TOEFL ไม่น้อยกว่า 500 คะแนน จำนวนหน่วยกิตรวม 36 หน่วยกิต ทำวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต โดยในช่วง 1 ปีแรกต้องเรียนรายวิชาชีพครูควบคู่กับการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยเพื่อ พัฒนาการเรียนการสอน รายวิชาชีพครู ควรศึกษาภาคทฤษฎีควบคู่กับภาคปฏิบัติในโรงเรียนในระหว่างเรียนด้วย และฝึกประสบการณ์สอนในสาขาเอกในปีที่ 2 พร้อมทำวิจัยควบคู่ไปด้วย

นายไชยยศ กล่าวต่อไปว่า ส่วนหลักสูตรปริญญาตรีควบโท 6 ปี มีปรัชญาของหลักสูตร คือ การสร้างครูประจำชั้น เพื่อสอนได้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยขึ้นไป โดยผู้เรียนจะได้รับการบ่มเพาะความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งศาสตร์ด้านการศึกษา และศาสตร์วิชาเฉพาะตลอดหลักสูตร สำหรับผู้ที่จะเรียนหลักสูตรนี้ต้องสำเร็จการศึกษาระดับ ม.ปลายหรือเทียบเท่า มี GPAX และผลการเรียนในวิชาเอกที่เลือกเรียนไม่ต่ำกว่า 3.00 ผลสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และ ผลสอบความถนัดทางวิชาชีพหรือวิชาการ ( PAT) วิชาวัดแววความเป็นครู PAT ภาษาอังกฤษ และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี จำนวนหน่วยกิตที่ต้องเรียนคือ 156 หน่วยกิต นอกจากนี้ในช่วง 4 ปีแรกต้องเรียนวิชาวิจัยขั้นพื้นฐานและวิจัยเพื่อพัฒนา การเรียนการสอน ขณะที่รายวิชาชีพครู ควรศึกษาภาคทฤษฎีควบคู่กับภาคปฏิบัติในโรงเรียนในระหว่างเรียนด้วย และฝึกประสบการณ์สอนในสาขาวิชาเอกในปีที่ 5 พร้อมทำวิจัยควบคู่ไปด้วย สำหรับอาจารย์ประจำหลักสูตรต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญคุณวุฒิปริญญาเอกหรือเทียบ เท่า หรือดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ในสาขาวิชานั้นหรือสาขา ที่สัมพันธ์กัน และต้องมีประสบการณ์การสอนไม่น้อยกว่า 5 ปี

“การออกแบบมาตรฐานหลักสูตรครูยุคใหม่ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงและสามารถตอบสนองทั้งความต้องการของ ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตนักเรียนให้มีคุณภาพต่อไปในอนาคต”รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มอบให้คณะกรรมการโครงการฯไปสำรวจความพร้อมของ สถาบันที่เสนอรายชื่อว่ามีความพร้อมในการผลิตครูในหลักสูตรทั้ง 2 หลักสูตรดังกล่าว ว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมถึงสำรวจความพร้อมของบุคลากรเพื่อจะได้เตรียมการว่าจะต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นครูของครูได้อย่างเหมาะสมต่อไป



ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 21 มกราคม 2554

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการสอบ

เทคนิคการสอบ
การเตรียมตัวก่อนสอบ
- ศึกษาและทบทวนบ่อย ๆ เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ การดูหนังสือวินาทีสุดท้าย เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นที่สุด
- อ่านสมุดที่จดบันทึกไว้อย่างตั้งใจ ขณะที่อ่านไปให้นึกถึงคำถามที่อาจจะมีขึ้นแล้วลองตอบ
- ทบทวนอย่างมีจุดประสงค์อยู่ในใจ การทบทวนชนิดเปิดสมุดอย่างสุ่ม จะไม่มีประโยชน์ แต่ให้ทบทวนหลักการ (concept) พื้นฐาน และจุดสำคัญของเนื้อหา
- ลองดูหนังสือทบทวนกับเพื่อน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนคำถาม คำตอบ แต่ถ้าคิดว่าตนเองไม่เหมาะกับการทบทวนวิธีนี้ ก็ควรอ่านทบทวนเฉพาะตนเอง
- ลองสอบถามรุ่นพี่ ๆ เพื่อทราบลักษณะการออกข้อสอบของอาจารย์ (ปรนัย, อัตนัย, ระยะเวลา) นอกจากนี้ ควรหาข้อสอบเก่า ๆ หรือสอบถามรุ่นพี่ว่าอาจารย์เ**ถามอะไรบ้าง หากมีข้อสอบเก่า ให้นักศึกษาลองฝึกตอบคำถามดูและควรต้องตอบภายในเวลาที่กำหนด (เหมือนเช่น การลองทำข้อสอบเก่าในการสอบเอ็นทรานซ์)
- พักผ่อนให้เต็มที่ก่อนวันสอบ ไม่ใช่ดูหนังสือจนสว่าง เพราะจะมีผลทำให้สมองของนักศึกษาทำงานได้ไม่เต็มที่
-1 สัปดาห์ก่อนกำหนดสอบไล่ ควรจะได้ตรวจสอบเกี่ยวกับวิชาสอบ วันเวลาที่สอบ สถานที่สอบให้แน่นอน มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยเลย ที่ไปสอบผิดวิชา ผิดวัน
- คืนก่อนสอบ เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อาจทบทวนอีกเล็กน้อย ไม่ใช่มาเริ่มอ่านสิ่งใหม่ ๆ ในคืนนี้
- อย่าเครียด ! ทำจิตใจให้สบาย ถ้านักศึกษาเตรียมตัวมาดีแล้ว ไม่ควรจะกังวลต่อสิ่งใด แต่หากเตรียมตัวไม่ดีพอ ความกังวลนี้จะยิ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้ายหนักเข้าไปอีก
- ในวันสอบ ควรไปถึงห้องสอบก่อนเวลา แต่อย่าไปถึงก่อนเวลามากเกินไปนัก

วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

ครูกระดานดำกลายเป็นครูไฮเทค แล้วเด็กจะเป็นอย่างไร?

เมื่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศว่า ปี 2554 เป็นปีแห่งคุณภาพครู ขณะที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อครูและนักเรียนมากขึ้น เด็กหลายคนเริ่มเรียนหนังสือจากแผ่นซีดี ครู-อาจารย์สอนลงคอมพิวเตอร์ จนกลายเป็นครูไฮเทค แล้วเด็กจะได้อะไร ???

ครูเรือจ้างที่เคยพาศิษย์นั่งเรือข้ามฝั่ง จะถูกลบออกจากสารบบหรือไม่ แล้วอนาคตเยาวชนของชาติจะไปในทิศทางใด "ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เข้ามาอิทธิพลต่อการเรียนการ สอนของครู ดร.มานะ กล่าวว่า ครูยุคใหม่จำเป็นต้องทันเทคโนโลยี และต้องนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เรื่องการค้นคว้า หาข้อมูลใหม่ๆ เพราะเราสามารถเรียนรู้ความรู้ใหม่จากต่างประเทศเร็วขึ้น ส่วนเทคนิคการนำเสนอ เทคโนโลยีใหม่ก็สามารถทำนักเรียนตื่นตาตื่นใจกับการสอนได้ โดยจะช่วยให้เด็กมีความสนใจและเรียนรู้ได้มากขึ้น แต่ครูยังต้องเรียนรู้ว่า เครื่องมือดังกล่าวมีทั้งคุณและโทษ

ส่วนกรณีที่จะทำให้ครูเป็นครูคุณภาพนั้น อ.นิเทศศาสตร์ เห็นว่า เมื่อสมัยก่อนครูก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการสอนเท่าไหร่นัก แต่ก็สามารถเป็นครูคุณภาพได้ โดยใช้หัวใจและใส่ใจในการสอน และตัวครูเองก็จะพัฒนาในการหาความรู้ตลอดเวลา ด้วยการไปหาหนังสือจากที่อื่นๆ มาเพิ่มเติมความรู้ของตน ก่อนที่จะนำไปสอนแก่เด็กๆ เทคโนโลยีช่วยเอื้อโอกาสเพิ่มเติมความรู้ให้กับครู ได้พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น ทั้งนี้หากครูไม่มีใจ เทคโนโลยีก็ไม่ได้ช่วยครูให้สอนได้ขึ้น ครูคุณภาพจึงอยู่ที่จิตสำนึกครูมากกว่า เทคโนโลยีเป็นที่ตัวเสริม

เมื่อถามว่า เด็กจะได้อะไรจากครูไฮเทค เชื่อว่า เด็กจะเรียนรู้กับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากเด็กไม่มีใจเรียน มัวแต่เล่นเกม การมีคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรในการเรียนรู้ เทคโนโลยีจึงเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เร็วและ กว้างขึ้น

ขณะที่นางจารุณี สุทธิสวรรค์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ที่ปฏิบัติตนตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพ จนสมควรได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการคุรุสภา ประจำปี 2553 ซึ่งสอนวิชานาฏศิลป์ กล่าวว่า การเป็นครูที่ดีต้องสามารถเติมเต็มผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ หากได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยครูผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กได้ ซึ่งที่ผ่านมาถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือในชนบท แต่ครูก็ไม่เคยคิดว่าการสอนเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้สำหรับเด็กเลย เพราะเด็กในพื้นที่ใดหากได้รับการสอนที่ดี ครูก็จะสามารถดึงศักยภาพเขาออกมาได้ และสร้างให้เป็นคนดี คนเก่งได้เช่นกัน

เมื่อถามความคิดเห็นเรื่องเทคโนโลยีที่มีบทบาทกับการศึกษา ครูจารุณี บอกว่า เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญกับการศึกษา เพราะทุกวันนี้วิชานาฏศิลป์ก็ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต โดยเรียนรู้จากสิ่งที่เราสร้างให้ก่อนนำไปต่อยอดการศึกษาต่อไป

ส่วนการที่จะเปลี่ยนครูกระดานดำเป็นครูไฮเทค คุณครูนาฏศิลป์ เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เราสามารถก้าวทันโลกเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เด็กมีโอกาสที่จะซึมซับข้อมูล ที่ไม่ใช่แต่เพียงคอมพิวเตอร์อย่างเดียว โทรทัศน์เองก็มีส่วนช่วยได้ ดังนั้นครูจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้รวดเร็วตามยุคข่าวสารเทคโนโลยี ถึงแม้จะไม่ได้จบคอมพิวเตอร์ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้เด็กก้าวไปข้างหน้าอย่างรอบรู้

ด้านนางภัทรพร อาษาดี ครูโรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นครูสอนวิชางานบ้าน ที่ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "ครูสอนดีเด่น" ประจำปี 2553 จากคุรุสภา กล่าวถึงแนวทางการสอนนักเรียนว่า ตนได้สอนและฝึกให้เด็กทำผลงานต่างๆ ทั้งโครงงานประดิษฐ์หลากหลายชนิด โดยผลงานทั้งหมดจะนำไปสู่ชุมชน และนำไปแข่งขันระดับจังหวัด ระดับประเทศต่อไป

ส่วนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอน ที่ผ่านมาครูก็ต้องปรับตัวในการใช้อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่แทรกเข้ามา และต้องใช้ให้เป็น ไม่เพียงแต่ดูอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เรายังต้องต่อยอดองค์ความรู้ให้กับเด็กๆ ทั้งในด้านการค้นคว้า การหาข้อมูล ซึ่งครูจะต้องพัฒนาตลอดเวลา ด้วยการทำสื่อการเรียนการสอนให้ทันสมัย สอดรับกับความต้องการในการเรียนรู้ของนักเรียนสมัยใหม่ ที่จะต้องเรียนรู้จากสื่อที่ครูเป็นผู้ผลิต

"ทุกวันนี้ครูก็กลายเป็นครูไฮเทคไปแล้ว เช่นกระดาษหนึ่งแผ่นที่เป็นองค์ความรู้ บางทีเด็กก็ได้แค่มอง แต่ถ้าครูเอาไปลงในคอมพิวเตอร์ มันจะทำให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากแผ่นซีดี หรือในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเด็กอาจจะนำกลับไปเรียนต่อที่บ้าน หรือเข้าไปอ่านในเว็บไซด์ต่างๆ ได้"

ทั้งนี้ ครูภัทรพร ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนว่า บางทีมันเหมือนดาบสองคม มีทั้งผลดีผลเสีย โดยผลเสียก็คือ หากใช้สื่ออินเตอร์เน็ตมาก จะทำให้เด็กเขียนหนังสือไม่เป็น ส่วนผลดีที่เราจะได้คือ โอกาสในการเรียนรู้ที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างเปิดกว้าง

นอกจากนี้ ครูดีเด่น ยังกล่าวถึงความคิดเห็นส่วนตัวว่า "ครูคุณภาพ ไม่ได้หมายความว่า ครูจะปล่อยให้เด็กอยู่กับความไฮเทคเพียงอย่างเดียว โดยที่ครูไม่ได้ดูแล ก็จะทำให้เด็กหลงทาง ใช้สื่อในทางที่ผิด ครูเชื่อว่าทุกอย่างต้องมีขอบเขต ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นผลเสีย"

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

เปิดสอบครูผู้ช่วย 2554

เปิดสอบครูพร้อมกันทั่วประเทศในเดือน เม.ย. 2554 และบรรจุเดือน พ.ค. 2554 เพื่อให้ทันกับการเปิดภาคเรียน ที่ 1/2554
นายก มล ศิริบรรณ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ ในโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด หรือ เออร์ลี่รีไทร์ ปีงบประมาณ 2554 ของ สพฐ. ว่า ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ทำหนังสือ ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการใช้เงินเหลือจ่ายของ สพฐ. ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อการบรรจุบุคลากรทดแทนข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าโครงการ เออร์ลี่รีไทร์ จำนวน 12,860 คน ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อขออัตราเกษียณอายุราชการปี 2552 จำนวน 4,160 อัตรา คืนตามมติ ครม. ที่ให้คืนอัตราเกษียณฯปกติทั้ง 100% แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เนื่องจากขาดแคลนครู
"เลขาธิการ กพฐ.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมารอ เพื่อเตรียมที่จะจัดสรรอัตราคืนแก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แล้ว และได้มีการสำรวจข้อมูลของแต่ละเขตพื้นที่ฯ แล้วว่าขาดอัตราเท่าใด ดังนั้นหาก คปร.อนุมัติ สพฐ.จะเร่งจัดสรรให้ทันที เพื่อให้เขตพื้นที่ฯจัดสรรอัตราลงสถานศึกษาต่อไป" นายกมลกล่าวและว่า สำหรับอัตราที่เขตพื้นที่ฯได้คืนนั้น สามารถนำไปเปิดสอบใหม่หรือจะเรียกจากบัญชีเดิมมาบรรจุก็ได้ ทั้ง นี้จะมีการสำรวจอัตราว่างในสถานศึกษาทั่วประเทศอีกครั้งในเดือน ก.พ. 2554 ก่อน จะมีการเปิดสอบพร้อมกันทั่วประเทศในเดือน เม.ย. 2554 และบรรจุเดือน พ.ค. 2554 เพื่อให้ทันกับการเปิดภาคเรียน ที่ 1/2554 อย่าง ไรก็ตามเบื้องต้นคาดว่าจะ ได้อัตราคืนมาบรรจุทั้งจากเกษียณปกติและเออร์ลี่รีไทร์รวม 17,020 อัตรา เนื่องจากจะได้คืนอัตราเออร์ลี่รีไทร์ 100% เช่นกัน

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

รัฐแจกทุนครูดีเด่นคนละหมื่น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท ในการจ่ายเงินเพื่อเป็นกำลังใจให้กับครูที่มีการสอนดีเด่นทั่วประเทศ โดยคัดเลือกมาจากระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด แห่งละ 1 คน โดยจะได้รับเงินพิเศษคนละ 1 หมื่นบาท เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการพัฒนาการศึกษา

ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าจะมีครูที่ได้รับเงินพิเศษประมาณ 1.2 แสนคน จากจำนวนทั้งหมด 4.5 แสนคน

นอกจากนี้ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการยังอยู่ระหว่างพิจารณาขึ้นเงินเดือนครูเป็นการ ทั่วไปอีก 58% ผ่านการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเงินวิทยฐานะและเบี้ยเลี้ยง

“กระทรวงศึกษาฯ ยังมีงบประมาณเบิกจ่ายเหลื่อมปีเหลืออยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ที่น่าจะสามารถนำมาดำเนินนโยบายได้” แหล่งข่าวเปิดเผย

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะมีการแถลงแผนเร่งรัฐปฏิบัติการด่วน (เพื่อคนไทย) ในวันที่ 9 ม.ค.นี้ ก่อนจะนำมาตรการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 11 ม.ค.ต่อไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวกับคณะผู้บริหารและครูจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 จำนวน 62 คน เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ว่า รัฐบาลมีโครงการที่จะให้ท้องถิ่นไปค้นหาครูที่ทุ่มเทเรื่องการเรียนการสอน เป็นหลัก โดยรัฐบาลจะดึงบุคคลเหล่านี้มา และให้แรงจูงใจ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของค่าตอบแทน

นอกจากนี้ จะกระตุ้นให้ครูกลุ่มนี้ไปเป็นผู้ฝึกครูใหม่เพื่อเข้าสู่ระบบที่จะขยายผลครู ที่สอนดี และทุ่มเทให้แก่นักเรียนอย่างเต็มที่ อีกทั้งภาคธุรกิจเอกชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการมาช่วยสร้างแรงจูงใจ และมีส่วนร่วมในการทำโครงการนี้ด้วย

“ครูคือปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวชี้ขาด ดังนั้นไม่ว่าจะปรับปรุงระบบบริหาร ระบบงบประมาณ หรือหลักสูตรอะไรก็ตาม แต่ถ้าปัจจัยในส่วนของครูไม่เอื้อให้เกิดความสำเร็จนั้น การปฏิรูปไม่มีทางประสบความสำเร็จ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายสุนทร ลีซีทวน อดีต สส.พรรประชาธิปัตย์ เขต 2 ได้นำคณะผู้บริหารและครูจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ได้นำกระเช้าดอกไม้และของขวัญมอบให้แก่นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2554

วันนี้ เวลา 14.20 น. ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสุนทร ลีซีทวน อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 ได้ ได้นำกระเช้าดอกไม้และของขวัญมอบให้แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2554 และรับฟังโอวาทจากนายกรัฐมนตรี

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารที่ได้เสียสละเวลาเดินทางมา พร้อมกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามาโดย ตลอด ซึ่งการปฏิรูปการศึกษานั้น อาจจะฟังดูใหญ่โตมาก คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และเปลี่ยนแปลงระบบ และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาบ่อยครั้ง แต่สุดท้ายที่มีการวิเคราะห์วิจัย อะไรเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในเรื่องของคุณภาพการศึกษา ซึ่งยังไม่มีที่ไหนค้นพบว่า ฉะนั้น การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปต้องให้ความสำคัญกับครู ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มต้นนโยบายคืนครูให้นักเรียน เพราะที่ผ่านมาได้มีเสียงสะท้อนว่ายังไม่พอ เพราะครูบางคนต้องวิ่งหลายโรงเรียน และความมั่นคงทางอาชีพการงานของครูยังไม่ลงตัวอีกด้วย ดังนั้น รัฐบาลกำลังดำเนินการเรื่องเงินเดือนและกฎหมาย เมื่อสภาเปิดสมัยประชุมขึ้นมาจะผลักดันตรงนี้ต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันเรื่องการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันโครงการหลักอยู่ 2 โครงการ ดังนี้ 1) เรื่องเด็กด้อยโอกาสที่จะครอบคลุมไปถึงเรื่องการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก 2) ปัญหาความก้าวหน้าของวิชาชีพครู ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำระบบผูกติดกับเรื่องวิทยฐานะและเรื่องการทำผลงาน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างมาก อาจจะส่งกระทบต่อเรื่องการเรียนการสอนของนักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้พยายามปรับเพื่อให้สอดรับกับเรื่องการเรียนการสอน มากขึ้นและที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในแผนการปฏิรูปคือ โครงการที่จะให้ท้องถิ่นไปค้นหาครูที่ทุ่มเทเรื่องการเรียนการสอนเป็นหลัก โดยจะดึงบุคคลเหล่านี้มาและจะได้รับแรงจูงใจอาจจะเป็นค่าตอบแทน นอกจากนี้ จะกระตุ้นให้ครูกลุ่มนี้ไปเป็นผู้ฝึกครูใหม่ เพื่อเข้าสู่ระบบที่จะขยายผลครูที่สอนดีและทุ่มเทให้แก่นักเรียนอย่างเต็ม ที่ อีกทั้ง ภาคธุรกิจเอกชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการมาช่วยสร้างแรงจูงใจและมีส่วน ร่วมในการทำโครงการนี้ด้วย

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ครูยุคใหม่

ครูยุคใหม่ กำลังเป็นกระแสในสังคมที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์และคำถาม เช่น ครูยุคใหม่ คือครูแบบไหน? ทำไมต้องมีครูยุคใหม่? ครูยุคใหม่สร้างได้อย่างไร? ครูยุคใหม่พัฒนาคุณภาพการศึกษาได้จริงหรือ?

คำตอบจากคำถามข้างต้น น่าจะเป็นดังนี้ครูยุคใหม่ คือครูแบบไหน?- ครูยุคใหม่ มีความรู้และความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านการศึกษา

- ครูยุคใหม่ เป็นนักวิเคราะห์ นักสังเคราะห์ และนักวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

- ครูยุคใหม่ เป็นครูโดยจิตวิญญาณ มีจิตวิทยาและศิลปะในการสอนและการถ่ายทอดความรู้

- ครูยุคใหม่ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่

- ครูยุคใหม่ มีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการเรียนการสอน

- ครูยุคใหม่ มีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์และสังคม

ครูยุคใหม่ที่มีคุณสมบัติข้างต้น จึงไม่ใช่เฉพาะครูใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงครูทุกคนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นครูเก่าหรือครูใหม่ คือครูยุคใหม่

ทำไมต้องมีครูยุคใหม่?คงต้องยอมรับเรื่องคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในทั้งระดับโลก และระดับประเทศ ดังข้อมูลต่อไปนี้

ผลการประเมินของโครงการ Program for International Student Assessment (PISA) ที่ดำเนินการโดย Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ที่ทำการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี จากประเทศสมาชิกและประเทศที่เข้าร่วมโครงการทุก 3 ปี มีผลการประเมินการรู้เรื่อง(Literacy) ใน 3 ด้าน ในปี 2549 ดังนี้

- ด้านการรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy)ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ย 417 ประเทศเกาหลีได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 556 คะแนนเฉลี่ย OECD คือ 500

- ด้านการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematic Literacy) ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ย 417 ประเทศจีน-ไทเป ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 549 คะแนนเฉลี่ยOECD คือ 500

- ด้านการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Science Literacy)ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ย 421 ประเทศฟินแลนด์ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 563 คะแนนเฉลี่ย OECD คือ500 (แหล่งที่มา : โครงการ PISA ของ OECD)

ส่วนผลสัมฤทธิ์การทดสอบระดับชาติ O-NET ปี2552 มีผลการสอบเฉลี่ยร้อยละ ดังนี้

- ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ภาษาไทย 38.58 ภาษาอังกฤษ 31.75 คณิตศาสตร์ 35.88 วิทยาศาสตร์ 38.67 สังคมศึกษา 33.91

- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาษาไทย 35.35 ภาษาอังกฤษ 22.54 คณิตศาสตร์ 26.04 วิทยาศาสตร์ 29.16 สังคมศึกษา 39.70

- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาษาไทย 46.47 ภาษาอังกฤษ 23.98 คณิตศาสตร์ 28.55 วิทยาศาสตร์ 31.03 สังคมศึกษา 36.01

(แหล่งที่มา : สถาบันทดสอบทางการศึกษา(องค์การมหาชน)

จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่น่าพอใจ และ "การประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนเกือบทุกครั้งยังน่าผิดหวัง"(อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 14 พ.ค.2552)

ส่วนผลการวิจัยของ sir michael barber โดยMckinsey & Company พบว่า ประสบการณ์ของประเทศที่มีผลการประเมินสูงอยู่ในสิบอันดับแรกสรุปได้ถึง ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของระบบโรงเรียน 3 ประการ ดังนี้

1.การคัดคนที่เหมาะสมเพื่อเป็นครู (Getting the right people to become teachers)

2.การพัฒนาให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ(Developing them into effective instructors)

3.การประกันระบบการจัดการเรียนการสอนที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนทุกคน (Ensuring that the system is able to deliver the best possible instruction for every chilld)

การผลิตครูและพัฒนาครูยุคใหม่ตามนิยามข้างต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ครูยุคใหม่สร้างได้อย่างไร?- สิ่งที่ต้องคำนึงถึงที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การพัฒนาครูในระบบ ซึ่งเป็นครูประจำการที่มีจำนวนมากประมาณ 700,000 คน อาทิ ครู สพฐ. ประมาณ500,000 คน ครู สอศ. ประมาณ 50,000 คน ครูสช. ประมาณ 100,000 คน ครู อปท. ประมาณ50,000 คน เป็นต้น การจะพัฒนาครูในระบบสู่ความเป็นครูยุคใหม่ได้อย่างไร? คงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและผู้บริหารการศึกษาที่รับผิดชอบต้องดำเนินการ ทราบว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ โดยมองการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเป็นองค์รวม โดยมีคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้รับผิดชอบ

- การผลิตครูยุคใหม่เป็นสิ่งที่ต้องปฏิรูปโดยการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและมี สิ่งจูงใจที่เหมาะสมโครงการครูพันธุ์ใหม่จึงเป็นการผลิตครูเพื่อทดแทนครูที่ จะเกษียณอายุราชการของกระทรวงศึกษาธิการประมาณ 200,000 คน ตามมติ ครม. วันที่ 8 ธันวาคม 2552 ครูพันธุ์ใหม่จึงเป็นผลผลิตที่จะสนองตอบความเป็นครูยุคใหม่ในระบบการผลิตครู คุณภาพ

- ในโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ทดแทนครูเกษียณอายุราชการ รัฐบาลได้เริ่มโครงการทุนครูยุคใหม่ระหว่างปี 2552-2561 โดยมีทุน 2 ประเภท ได้แก่ประเภทที่ 1 มีทุนการศึกษาและมีอัตราบรรจุ (ประกันงาน) กับประเภทที่ 2 มีอัตราบรรจุ (ประกันงาน) รวมทั้ง 2 ประเภท จำนวน 33,600 ทุน และอาจจะขยายจำนวนทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยการรับทุนเต็มรูปแบบจะเริ่มในปีการศึกษา 2554 โดยมีหลักการดังนี้

คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา1.1 หลักสูตรปริญญาตรีควบโท 6 ปี ผู้สมัครรับทุนต้อง

- มีคะแนนผลการเรียน ม.ปลาย เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า3.00 และผลการเรียนในวิชาเอก (ถ้ามี) เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00

- มีคะแนนผลการสอบ O-NET, GAT, PAT อยู่ในกลุ่มสูงร้อยละสามสิบ (Top Thirty) ของกลุ่มผู้สอบในแต่ละปี

- มีคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (paper based ไม่น้อยกว่า 400, computer based ไม่น้อยกว่า 97, internet based ไม่น้อยกว่า 32) หรือIELTS ไม่น้อยกว่า 3.5 หรือคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษจากหน่วยงานที่สำนักงาน ก.พ. รับรองการเทียบเท่าเกณฑ์ TOEFL และ IELTS เช่น CU-TEP ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1.2 หลักสูตรปริญญาโท 2 ปี (รับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี) ผู้สมัครรับทุนต้อง

- มีคะแนนผลการเรียนเฉลี่ย และผลการเรียนวิชาเอกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00

- มีคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (paper based ไม่น้อยกว่า 450, computer based ไม่น้อยกว่า 133, internet based ไม่น้อยกว่า 45) หรือIELTS ไม่น้อยกว่า 4 หรือคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษจากหน่วยงานที่สำนักงาน ก.พ.รับรองการเทียบเท่าเกณฑ์ TOEFL และ IELTS เช่น CU-TEP ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1.3 หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปีจะมีนิสิต/นักศึกษารับทุนเป็นปีสุดท้าย กรณีที่มีทุนเหลือจากหลักสูตรปริญญาตรี ควบโท 6 ปี และหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี

เงื่อนไขระหว่างการศึกษา ต้องได้คะแนนรวมเฉลี่ยคะแนนวิชาเอกเฉลี่ย และคะแนนวิชาชีพครูเฉลี่ย ไม่น้อยกว่า 3.00 ทุกกลุ่ม

เมื่อมีการกำหนดคุณสมบัติทั้งก่อนเข้าศึกษา และระหว่างศึกษาอย่างเข้มข้น รวมทั้งมีเงื่อนไขคุณภาพที่มีลักษณะพิเศษสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเช่นมี คะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (paper based ไม่น้อยกว่า 500, computer based ไม่น้อยกว่า173, internet based ไม่น้อยกว่า 61) หรือ IELTS ไม่น้อยกว่า 5 หรือคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษจากหน่วยงานที่สำนักงาน ก.พ. รับรองการเทียบเท่าเกณฑ์TOEFL และ IELTS เช่น CU-TEP ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษ(ภาษาต่างประเทศ) จึงอาจเป็นเงื่อนไขในการกำหนดอัตราเงินเดือนสูงกว่าระดับปริญญาโทปกติได้

ครูยุคใหม่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้จริงหรือ?ครูยุคใหม่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเท่านั้น ดังนั้น นอกจากครูยุคใหม่แล้ว นโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลยังได้กำหนดการพัฒนาคุณภาพทั้งสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการบริหารจัดการใหม่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ตามปฏิญญาการปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่สอง (2552-2561) ที่มีเป้าหมายคือ

คนไทยยุคใหม่ มีสมรรถนะการศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล (IMD), คนไทยใฝ่รู้ :สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต, คนไทยใฝ่ดี : มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มีศีลธรรมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมและคนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น : มีความสามารถในการสื่อสารสามารถคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา ริเริ่มสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจจะต้องตระหนักถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการ ศึกษาด้วยอาทิ การพัฒนาคุณภาพหลักสูตร ทั้งหลักสูตรการผลิตครู หลักสูตรอาชีวศึกษา และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การพัฒนาคุณภาพครูของครู ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และคณะอื่นที่ร่วมการผลิตครูยุคใหม่

ผู้สนใจรับทุนครูพันธ์ใหม่ โปรดติดตามความคืบหน้าได้จาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) โดยคาดว่าน่าจะมีการประกาศรับสมัครผู้รับทุนครูพันธุ์ใหม่ ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2554

ครูยุคใหม่ จึงอาจเป็นคำตอบสุดท้ายของการปฏิรูปการศึกษารอบสอง