วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

คลอด2มาตรฐานหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่ ป.โทสอนรายวิชา-ประจำชั้น

นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ได้เห็นชอบแนวทางการออกแบบ มาตรฐานหลักสูตรครูยุคใหม่หลักสูตรปริญญาโท 2 ปี และหลักสูตรครูปริญญาตรีควบโท 6 ปี โดยหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี มีปรัชญาของหลักสูตร คือ การพัฒนาสร้างครูประจำวิชา เพื่อสอนระดับ ม.ปลายและอาชีวศึกษา ซึ่งผู้ที่จะเรียนหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรม.ปลาย หรือ GPAX และผลการเรียนวิชาเอกไม่ต่ำกว่า 3.00 มีความสามารถภาษาอังกฤษดี มีคะแนนสอบภาษาอังกฤษที่เทียบกับ TOEFL ไม่น้อยกว่า 500 คะแนน จำนวนหน่วยกิตรวม 36 หน่วยกิต ทำวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต โดยในช่วง 1 ปีแรกต้องเรียนรายวิชาชีพครูควบคู่กับการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยเพื่อ พัฒนาการเรียนการสอน รายวิชาชีพครู ควรศึกษาภาคทฤษฎีควบคู่กับภาคปฏิบัติในโรงเรียนในระหว่างเรียนด้วย และฝึกประสบการณ์สอนในสาขาเอกในปีที่ 2 พร้อมทำวิจัยควบคู่ไปด้วย

นายไชยยศ กล่าวต่อไปว่า ส่วนหลักสูตรปริญญาตรีควบโท 6 ปี มีปรัชญาของหลักสูตร คือ การสร้างครูประจำชั้น เพื่อสอนได้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยขึ้นไป โดยผู้เรียนจะได้รับการบ่มเพาะความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งศาสตร์ด้านการศึกษา และศาสตร์วิชาเฉพาะตลอดหลักสูตร สำหรับผู้ที่จะเรียนหลักสูตรนี้ต้องสำเร็จการศึกษาระดับ ม.ปลายหรือเทียบเท่า มี GPAX และผลการเรียนในวิชาเอกที่เลือกเรียนไม่ต่ำกว่า 3.00 ผลสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และ ผลสอบความถนัดทางวิชาชีพหรือวิชาการ ( PAT) วิชาวัดแววความเป็นครู PAT ภาษาอังกฤษ และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี จำนวนหน่วยกิตที่ต้องเรียนคือ 156 หน่วยกิต นอกจากนี้ในช่วง 4 ปีแรกต้องเรียนวิชาวิจัยขั้นพื้นฐานและวิจัยเพื่อพัฒนา การเรียนการสอน ขณะที่รายวิชาชีพครู ควรศึกษาภาคทฤษฎีควบคู่กับภาคปฏิบัติในโรงเรียนในระหว่างเรียนด้วย และฝึกประสบการณ์สอนในสาขาวิชาเอกในปีที่ 5 พร้อมทำวิจัยควบคู่ไปด้วย สำหรับอาจารย์ประจำหลักสูตรต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญคุณวุฒิปริญญาเอกหรือเทียบ เท่า หรือดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ในสาขาวิชานั้นหรือสาขา ที่สัมพันธ์กัน และต้องมีประสบการณ์การสอนไม่น้อยกว่า 5 ปี

“การออกแบบมาตรฐานหลักสูตรครูยุคใหม่ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงและสามารถตอบสนองทั้งความต้องการของ ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตนักเรียนให้มีคุณภาพต่อไปในอนาคต”รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มอบให้คณะกรรมการโครงการฯไปสำรวจความพร้อมของ สถาบันที่เสนอรายชื่อว่ามีความพร้อมในการผลิตครูในหลักสูตรทั้ง 2 หลักสูตรดังกล่าว ว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมถึงสำรวจความพร้อมของบุคลากรเพื่อจะได้เตรียมการว่าจะต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นครูของครูได้อย่างเหมาะสมต่อไป



ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 21 มกราคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น