วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ครูยุคใหม่

ครูยุคใหม่ กำลังเป็นกระแสในสังคมที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์และคำถาม เช่น ครูยุคใหม่ คือครูแบบไหน? ทำไมต้องมีครูยุคใหม่? ครูยุคใหม่สร้างได้อย่างไร? ครูยุคใหม่พัฒนาคุณภาพการศึกษาได้จริงหรือ?

คำตอบจากคำถามข้างต้น น่าจะเป็นดังนี้ครูยุคใหม่ คือครูแบบไหน?- ครูยุคใหม่ มีความรู้และความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านการศึกษา

- ครูยุคใหม่ เป็นนักวิเคราะห์ นักสังเคราะห์ และนักวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

- ครูยุคใหม่ เป็นครูโดยจิตวิญญาณ มีจิตวิทยาและศิลปะในการสอนและการถ่ายทอดความรู้

- ครูยุคใหม่ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่

- ครูยุคใหม่ มีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการเรียนการสอน

- ครูยุคใหม่ มีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์และสังคม

ครูยุคใหม่ที่มีคุณสมบัติข้างต้น จึงไม่ใช่เฉพาะครูใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงครูทุกคนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นครูเก่าหรือครูใหม่ คือครูยุคใหม่

ทำไมต้องมีครูยุคใหม่?คงต้องยอมรับเรื่องคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในทั้งระดับโลก และระดับประเทศ ดังข้อมูลต่อไปนี้

ผลการประเมินของโครงการ Program for International Student Assessment (PISA) ที่ดำเนินการโดย Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ที่ทำการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี จากประเทศสมาชิกและประเทศที่เข้าร่วมโครงการทุก 3 ปี มีผลการประเมินการรู้เรื่อง(Literacy) ใน 3 ด้าน ในปี 2549 ดังนี้

- ด้านการรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy)ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ย 417 ประเทศเกาหลีได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 556 คะแนนเฉลี่ย OECD คือ 500

- ด้านการรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematic Literacy) ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ย 417 ประเทศจีน-ไทเป ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 549 คะแนนเฉลี่ยOECD คือ 500

- ด้านการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Science Literacy)ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ย 421 ประเทศฟินแลนด์ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 563 คะแนนเฉลี่ย OECD คือ500 (แหล่งที่มา : โครงการ PISA ของ OECD)

ส่วนผลสัมฤทธิ์การทดสอบระดับชาติ O-NET ปี2552 มีผลการสอบเฉลี่ยร้อยละ ดังนี้

- ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ภาษาไทย 38.58 ภาษาอังกฤษ 31.75 คณิตศาสตร์ 35.88 วิทยาศาสตร์ 38.67 สังคมศึกษา 33.91

- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาษาไทย 35.35 ภาษาอังกฤษ 22.54 คณิตศาสตร์ 26.04 วิทยาศาสตร์ 29.16 สังคมศึกษา 39.70

- ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาษาไทย 46.47 ภาษาอังกฤษ 23.98 คณิตศาสตร์ 28.55 วิทยาศาสตร์ 31.03 สังคมศึกษา 36.01

(แหล่งที่มา : สถาบันทดสอบทางการศึกษา(องค์การมหาชน)

จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่น่าพอใจ และ "การประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนเกือบทุกครั้งยังน่าผิดหวัง"(อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, 14 พ.ค.2552)

ส่วนผลการวิจัยของ sir michael barber โดยMckinsey & Company พบว่า ประสบการณ์ของประเทศที่มีผลการประเมินสูงอยู่ในสิบอันดับแรกสรุปได้ถึง ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของระบบโรงเรียน 3 ประการ ดังนี้

1.การคัดคนที่เหมาะสมเพื่อเป็นครู (Getting the right people to become teachers)

2.การพัฒนาให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ(Developing them into effective instructors)

3.การประกันระบบการจัดการเรียนการสอนที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนทุกคน (Ensuring that the system is able to deliver the best possible instruction for every chilld)

การผลิตครูและพัฒนาครูยุคใหม่ตามนิยามข้างต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ครูยุคใหม่สร้างได้อย่างไร?- สิ่งที่ต้องคำนึงถึงที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การพัฒนาครูในระบบ ซึ่งเป็นครูประจำการที่มีจำนวนมากประมาณ 700,000 คน อาทิ ครู สพฐ. ประมาณ500,000 คน ครู สอศ. ประมาณ 50,000 คน ครูสช. ประมาณ 100,000 คน ครู อปท. ประมาณ50,000 คน เป็นต้น การจะพัฒนาครูในระบบสู่ความเป็นครูยุคใหม่ได้อย่างไร? คงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและผู้บริหารการศึกษาที่รับผิดชอบต้องดำเนินการ ทราบว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ โดยมองการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบเป็นองค์รวม โดยมีคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้รับผิดชอบ

- การผลิตครูยุคใหม่เป็นสิ่งที่ต้องปฏิรูปโดยการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและมี สิ่งจูงใจที่เหมาะสมโครงการครูพันธุ์ใหม่จึงเป็นการผลิตครูเพื่อทดแทนครูที่ จะเกษียณอายุราชการของกระทรวงศึกษาธิการประมาณ 200,000 คน ตามมติ ครม. วันที่ 8 ธันวาคม 2552 ครูพันธุ์ใหม่จึงเป็นผลผลิตที่จะสนองตอบความเป็นครูยุคใหม่ในระบบการผลิตครู คุณภาพ

- ในโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ทดแทนครูเกษียณอายุราชการ รัฐบาลได้เริ่มโครงการทุนครูยุคใหม่ระหว่างปี 2552-2561 โดยมีทุน 2 ประเภท ได้แก่ประเภทที่ 1 มีทุนการศึกษาและมีอัตราบรรจุ (ประกันงาน) กับประเภทที่ 2 มีอัตราบรรจุ (ประกันงาน) รวมทั้ง 2 ประเภท จำนวน 33,600 ทุน และอาจจะขยายจำนวนทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยการรับทุนเต็มรูปแบบจะเริ่มในปีการศึกษา 2554 โดยมีหลักการดังนี้

คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา1.1 หลักสูตรปริญญาตรีควบโท 6 ปี ผู้สมัครรับทุนต้อง

- มีคะแนนผลการเรียน ม.ปลาย เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า3.00 และผลการเรียนในวิชาเอก (ถ้ามี) เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00

- มีคะแนนผลการสอบ O-NET, GAT, PAT อยู่ในกลุ่มสูงร้อยละสามสิบ (Top Thirty) ของกลุ่มผู้สอบในแต่ละปี

- มีคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (paper based ไม่น้อยกว่า 400, computer based ไม่น้อยกว่า 97, internet based ไม่น้อยกว่า 32) หรือIELTS ไม่น้อยกว่า 3.5 หรือคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษจากหน่วยงานที่สำนักงาน ก.พ. รับรองการเทียบเท่าเกณฑ์ TOEFL และ IELTS เช่น CU-TEP ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1.2 หลักสูตรปริญญาโท 2 ปี (รับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี) ผู้สมัครรับทุนต้อง

- มีคะแนนผลการเรียนเฉลี่ย และผลการเรียนวิชาเอกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00

- มีคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (paper based ไม่น้อยกว่า 450, computer based ไม่น้อยกว่า 133, internet based ไม่น้อยกว่า 45) หรือIELTS ไม่น้อยกว่า 4 หรือคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษจากหน่วยงานที่สำนักงาน ก.พ.รับรองการเทียบเท่าเกณฑ์ TOEFL และ IELTS เช่น CU-TEP ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1.3 หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปีจะมีนิสิต/นักศึกษารับทุนเป็นปีสุดท้าย กรณีที่มีทุนเหลือจากหลักสูตรปริญญาตรี ควบโท 6 ปี และหลักสูตรปริญญาโท 2 ปี

เงื่อนไขระหว่างการศึกษา ต้องได้คะแนนรวมเฉลี่ยคะแนนวิชาเอกเฉลี่ย และคะแนนวิชาชีพครูเฉลี่ย ไม่น้อยกว่า 3.00 ทุกกลุ่ม

เมื่อมีการกำหนดคุณสมบัติทั้งก่อนเข้าศึกษา และระหว่างศึกษาอย่างเข้มข้น รวมทั้งมีเงื่อนไขคุณภาพที่มีลักษณะพิเศษสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเช่นมี คะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (paper based ไม่น้อยกว่า 500, computer based ไม่น้อยกว่า173, internet based ไม่น้อยกว่า 61) หรือ IELTS ไม่น้อยกว่า 5 หรือคะแนนผลการสอบภาษาอังกฤษจากหน่วยงานที่สำนักงาน ก.พ. รับรองการเทียบเท่าเกณฑ์TOEFL และ IELTS เช่น CU-TEP ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษ(ภาษาต่างประเทศ) จึงอาจเป็นเงื่อนไขในการกำหนดอัตราเงินเดือนสูงกว่าระดับปริญญาโทปกติได้

ครูยุคใหม่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้จริงหรือ?ครูยุคใหม่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเท่านั้น ดังนั้น นอกจากครูยุคใหม่แล้ว นโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลยังได้กำหนดการพัฒนาคุณภาพทั้งสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการบริหารจัดการใหม่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ตามปฏิญญาการปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่สอง (2552-2561) ที่มีเป้าหมายคือ

คนไทยยุคใหม่ มีสมรรถนะการศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล (IMD), คนไทยใฝ่รู้ :สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต, คนไทยใฝ่ดี : มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มีศีลธรรมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมและคนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น : มีความสามารถในการสื่อสารสามารถคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา ริเริ่มสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจจะต้องตระหนักถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการ ศึกษาด้วยอาทิ การพัฒนาคุณภาพหลักสูตร ทั้งหลักสูตรการผลิตครู หลักสูตรอาชีวศึกษา และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การพัฒนาคุณภาพครูของครู ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และคณะอื่นที่ร่วมการผลิตครูยุคใหม่

ผู้สนใจรับทุนครูพันธ์ใหม่ โปรดติดตามความคืบหน้าได้จาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) โดยคาดว่าน่าจะมีการประกาศรับสมัครผู้รับทุนครูพันธุ์ใหม่ ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2554

ครูยุคใหม่ จึงอาจเป็นคำตอบสุดท้ายของการปฏิรูปการศึกษารอบสอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น