วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

ครูกระดานดำกลายเป็นครูไฮเทค แล้วเด็กจะเป็นอย่างไร?

เมื่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศว่า ปี 2554 เป็นปีแห่งคุณภาพครู ขณะที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อครูและนักเรียนมากขึ้น เด็กหลายคนเริ่มเรียนหนังสือจากแผ่นซีดี ครู-อาจารย์สอนลงคอมพิวเตอร์ จนกลายเป็นครูไฮเทค แล้วเด็กจะได้อะไร ???

ครูเรือจ้างที่เคยพาศิษย์นั่งเรือข้ามฝั่ง จะถูกลบออกจากสารบบหรือไม่ แล้วอนาคตเยาวชนของชาติจะไปในทิศทางใด "ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เข้ามาอิทธิพลต่อการเรียนการ สอนของครู ดร.มานะ กล่าวว่า ครูยุคใหม่จำเป็นต้องทันเทคโนโลยี และต้องนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เรื่องการค้นคว้า หาข้อมูลใหม่ๆ เพราะเราสามารถเรียนรู้ความรู้ใหม่จากต่างประเทศเร็วขึ้น ส่วนเทคนิคการนำเสนอ เทคโนโลยีใหม่ก็สามารถทำนักเรียนตื่นตาตื่นใจกับการสอนได้ โดยจะช่วยให้เด็กมีความสนใจและเรียนรู้ได้มากขึ้น แต่ครูยังต้องเรียนรู้ว่า เครื่องมือดังกล่าวมีทั้งคุณและโทษ

ส่วนกรณีที่จะทำให้ครูเป็นครูคุณภาพนั้น อ.นิเทศศาสตร์ เห็นว่า เมื่อสมัยก่อนครูก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการสอนเท่าไหร่นัก แต่ก็สามารถเป็นครูคุณภาพได้ โดยใช้หัวใจและใส่ใจในการสอน และตัวครูเองก็จะพัฒนาในการหาความรู้ตลอดเวลา ด้วยการไปหาหนังสือจากที่อื่นๆ มาเพิ่มเติมความรู้ของตน ก่อนที่จะนำไปสอนแก่เด็กๆ เทคโนโลยีช่วยเอื้อโอกาสเพิ่มเติมความรู้ให้กับครู ได้พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น ทั้งนี้หากครูไม่มีใจ เทคโนโลยีก็ไม่ได้ช่วยครูให้สอนได้ขึ้น ครูคุณภาพจึงอยู่ที่จิตสำนึกครูมากกว่า เทคโนโลยีเป็นที่ตัวเสริม

เมื่อถามว่า เด็กจะได้อะไรจากครูไฮเทค เชื่อว่า เด็กจะเรียนรู้กับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากเด็กไม่มีใจเรียน มัวแต่เล่นเกม การมีคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรในการเรียนรู้ เทคโนโลยีจึงเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เร็วและ กว้างขึ้น

ขณะที่นางจารุณี สุทธิสวรรค์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ที่ปฏิบัติตนตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพ จนสมควรได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการคุรุสภา ประจำปี 2553 ซึ่งสอนวิชานาฏศิลป์ กล่าวว่า การเป็นครูที่ดีต้องสามารถเติมเต็มผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ หากได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยครูผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กได้ ซึ่งที่ผ่านมาถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือในชนบท แต่ครูก็ไม่เคยคิดว่าการสอนเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้สำหรับเด็กเลย เพราะเด็กในพื้นที่ใดหากได้รับการสอนที่ดี ครูก็จะสามารถดึงศักยภาพเขาออกมาได้ และสร้างให้เป็นคนดี คนเก่งได้เช่นกัน

เมื่อถามความคิดเห็นเรื่องเทคโนโลยีที่มีบทบาทกับการศึกษา ครูจารุณี บอกว่า เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญกับการศึกษา เพราะทุกวันนี้วิชานาฏศิลป์ก็ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต โดยเรียนรู้จากสิ่งที่เราสร้างให้ก่อนนำไปต่อยอดการศึกษาต่อไป

ส่วนการที่จะเปลี่ยนครูกระดานดำเป็นครูไฮเทค คุณครูนาฏศิลป์ เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เราสามารถก้าวทันโลกเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เด็กมีโอกาสที่จะซึมซับข้อมูล ที่ไม่ใช่แต่เพียงคอมพิวเตอร์อย่างเดียว โทรทัศน์เองก็มีส่วนช่วยได้ ดังนั้นครูจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้รวดเร็วตามยุคข่าวสารเทคโนโลยี ถึงแม้จะไม่ได้จบคอมพิวเตอร์ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้เด็กก้าวไปข้างหน้าอย่างรอบรู้

ด้านนางภัทรพร อาษาดี ครูโรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นครูสอนวิชางานบ้าน ที่ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "ครูสอนดีเด่น" ประจำปี 2553 จากคุรุสภา กล่าวถึงแนวทางการสอนนักเรียนว่า ตนได้สอนและฝึกให้เด็กทำผลงานต่างๆ ทั้งโครงงานประดิษฐ์หลากหลายชนิด โดยผลงานทั้งหมดจะนำไปสู่ชุมชน และนำไปแข่งขันระดับจังหวัด ระดับประเทศต่อไป

ส่วนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสอน ที่ผ่านมาครูก็ต้องปรับตัวในการใช้อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่แทรกเข้ามา และต้องใช้ให้เป็น ไม่เพียงแต่ดูอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เรายังต้องต่อยอดองค์ความรู้ให้กับเด็กๆ ทั้งในด้านการค้นคว้า การหาข้อมูล ซึ่งครูจะต้องพัฒนาตลอดเวลา ด้วยการทำสื่อการเรียนการสอนให้ทันสมัย สอดรับกับความต้องการในการเรียนรู้ของนักเรียนสมัยใหม่ ที่จะต้องเรียนรู้จากสื่อที่ครูเป็นผู้ผลิต

"ทุกวันนี้ครูก็กลายเป็นครูไฮเทคไปแล้ว เช่นกระดาษหนึ่งแผ่นที่เป็นองค์ความรู้ บางทีเด็กก็ได้แค่มอง แต่ถ้าครูเอาไปลงในคอมพิวเตอร์ มันจะทำให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากแผ่นซีดี หรือในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเด็กอาจจะนำกลับไปเรียนต่อที่บ้าน หรือเข้าไปอ่านในเว็บไซด์ต่างๆ ได้"

ทั้งนี้ ครูภัทรพร ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนว่า บางทีมันเหมือนดาบสองคม มีทั้งผลดีผลเสีย โดยผลเสียก็คือ หากใช้สื่ออินเตอร์เน็ตมาก จะทำให้เด็กเขียนหนังสือไม่เป็น ส่วนผลดีที่เราจะได้คือ โอกาสในการเรียนรู้ที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างเปิดกว้าง

นอกจากนี้ ครูดีเด่น ยังกล่าวถึงความคิดเห็นส่วนตัวว่า "ครูคุณภาพ ไม่ได้หมายความว่า ครูจะปล่อยให้เด็กอยู่กับความไฮเทคเพียงอย่างเดียว โดยที่ครูไม่ได้ดูแล ก็จะทำให้เด็กหลงทาง ใช้สื่อในทางที่ผิด ครูเชื่อว่าทุกอย่างต้องมีขอบเขต ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นผลเสีย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น